“ป้าโรสค่ะ ชื่อนฤพรรณ รองเมือง อีเรค เคยทำงานที่สวีเดน 2 ปี แล้วก็ย้ายไปอยู่เดนมาร์กอีก 10 ปี มีชีวิตอยู่บนความสะดวกสบาย เดินพรมแดง แต่งสวย เครื่องอำนวยความสุขทางกายพร้อมมาก แต่ถามถึงจิตใจเหงาที่สุด... สิ่งที่ทำได้ก็คือ ดูทีวีไทยเพื่อคลายความคิดถึงบ้าน แล้ววันหนึ่งก็เปิดเจอ พระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 9 ท่านทรงงานตลอดเวลาปีละ 365 วัน ดูไปน้ำตาก็ไหลเอง มีคำ ถามกับตัวเองว่า เรามาทำ อะไรอยู่ที่นี่ ชีวิตเราช่างไร้ค่าสิ้นดี ไม่เอาแล้ว ฉันจะกลับเมืองไทย ฉันจะกลับไปเป็นลูกที่ดีของพ่อ ฉันจะกลับไปทำ ตามพระองค์ ทำประโยชน์ให้แผ่นดินเกิดของฉัน
ปี 2555 กลับมาเมืองไทยปีแรกยังไม่รู้จะเริ่มตรงใหนก่อนดีไม่เคยทำสวน ไม่เคยทำไร่ ก็เลยเปิดร้านสปาก่อน เคาะหน้าสวยปั้นหน้าเรียว ตบหน้าเด้ง นวดร้อนลดไขมันหน้าท้อง ทำมารดาหลังคลอด... ทำได้ปีกว่าๆ เพื่อนชวนไปเดินป่าพะโต๊ะ ในป่าสงบมาก ไร้สัญญาณโทรศัพท์ เย็นสบาย ก็คิดว่า ถ้าเรามีป่าส่วนตัวที่บ้านละ ???
“กลับจากป่า ปิดร้านสปาเลย ขนของกลับบ้าน พอดีมีอบรมคนกล้าคืนถิ่นรุ่นแรก ก็สมัครเข้าอบรมที่ค่ายกะปาง นครศรีธรรมราชเป็นคนกล้าฯ รุ่นแรกหลังจากอบรมเสร็จ มีเงินอยู่สี่แสนกว่าๆ จ้าง
แบ็คโฮกวาดพื้นที่ ทำฝาย ปลูกต้นไม้ ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ปลูกพริกไทย ขุดบ่อเลี้ยงปลา ต้องรีบมีให้เท่าคนอื่น ปลาเริ่มโตกำลังจะได้จับขายฝนตกหนักน้ำป่ามาท่วมบ่อปลา กวาดเอาไปหมดทั้งพริกไทยต้นไม้ มะพร้าวน้ำหอม ราบเป็นหน้ากลอง วันนั้นทุกสิ่งอย่างละลายหายไปกับน้ำป่า”
ชีวิตหลังน้ำป่า ทำให้เราได้เรียนรู้ บริบทพื้นที่ ได้เรียนรู้คำว่า เริ่มจากสิ่งที่มี เริ่มจากสองมือที่ไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวตั้ง เริ่มลงมือทำทุกอย่าง พันธุ์พืช ปุ๋ยหมัก จุลินทรีย์ แปรรูปผลผลิตในแปลง รวมกลุ่มกับชุมชนจดวิสาหกิจชุมชน ทำสินค้าโอทอปทำกลุ่มเกษตรอินทรีย์ระดับจังหวัด ถึงวันนี้แปลงเล็กๆ ขนาด 5 ไร่ พร้อมที่จะแบ่งปันทุกประสบการณ์ ทุกองค์ความรู้ที่มีกับทุกคนที่สนใจ เปิดเป็นบ้านบ่มเพาะคนกล้าฯ เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรธรรมชาติ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน”

ระหว่างที่ใช้ชีวิตสมรสในประเทศเดนมาร์คนานกว่า 12 ปี คุณโรส-นฤพรรณ รองเมือง อีเรค ได้ชมรายการโทรทัศน์ของไทยเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงเกิดแรงบันดาลใจว่าตนควรเดินทางกลับสู่ประเทศไทยเพื่อทำประโยชน์แก่บ้านเกิดบ้าง อีกทั้งการทำอาชีพดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ทำให้เธอเล็งเห็นความสำคัญของอาหาร ในฐานะปัจจัยสำคัญที่สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ เธอจึงตัดสินใจที่จะกลับมาทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิด ณ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งมอบผลิตผลที่ดีต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคความมุ่งมั่นนี้กลายเป็นหลักยึดปฏิบัติสำหรับเธอว่าจะพลิก สวนผลไม้ของครอบครัวไม่ให้ปนเปื้อนสารเคมีแม้แต่นิดเดียว
เมื่อกลับบ้านไป คุณโรสได้ทุ่มเงินลงทุนไปจำนวนมาก เเต่ไม่นานก็มีน้ำป่าไหลหลากมาต้อนรับเธอถึงหน้าบ้าน พัดพาต้นไม้เเละพืชผักในสวนพร้อมกับ ปลาจำนวนมากในบ่อขนาดหนึ่งไร่หายลับไปกับสายธารทำให้เธอเข้าใจความหมายที่เเท้จริงของ การ ‘เริ่มจากสิ่งที่มี’ เเละศึกษาบริบทพื้นที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน แต่อุปสรรคไม่ได้หมดเพียงเท่านี้คุณโรสยังพบกับคำปรามาสมากมายจากคนรอบข้างที่มองว่าเธอเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในต่างประเทศมาโดยตลอด ย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จในด้านนี้ทั้งหมดนี้กลายเป็นบททดสอบชีวิตในฐานะเกษตรกรขั้นแรกเริ่มผู้ที่ไม่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรมาก่อนเลย
เริ่มแรกคุณโรสศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองอย่างเข้มข้น และลงมือทำในระดับพื้นฐาน เช่น จากเดิมที่เคยซื้อเสาจำนวนมากเพื่อปลูกพริกไทยเเละโดนน้ำป่าพัดไป คุณโรสก็หันมาปลูกรอบไม้ใหญ่เเทนเพื่อช่วยพยุงลำต้นไว้ไม่ให้หักโค่น การรู้จักธรรมชาติและประโยชน์ของพืชทำให้เธอสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
คุณโรสเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆอยู่เสมอโดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการอบรมเกษตรกรมือใหม่และได้ต่อยอดองค์ความรู้เรื่อยมาจนวันนี้เธอได้เปลี่ยนสวนเดิมของครอบครัวที่มีพืชเพียงไม่กี่ชนิดเป็น ‘สวนสมรม’ หรือสวนผสมผสานที่รวบรวมพืชพันธุ์หลากหลายชนิดใครไปก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีพืชพันธุ์มากมายเสียจนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นไม้ป่าเสริมไม้ใช้งาน พืชผักสมุนไพร ไม้กินผล เช่น ลองกอง มังคุด สะตอ ต่างก็ให้ผลผลิตในระดับที่น่าพึงพอใจอย่างมากโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีเเละเเล้ว กล้าไม้แห่งความ พยายามของเธอก็เริ่มออกดอกผลในที่สุด
มังคุดจากเเปลงคุณโรสออกผลมากเท่าไรก็ไม่พอขายเพราะลูกค้ารับของเเล้วเห็นว่าไม่มีเสียแม้แต่ลูกเดียว ผู้บริโภคประทับใจในคุณภาพสินค้าที่ปลอดสารพิษ ปลูกผลผลิตด้วยวิถี ธรรมชาติ 100% นอกจากนั้น ‘รสชาติของดินกลิ่นของทะเล’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสวนในภาคใต้ก็ช่วยเพิ่มพูนรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่คุณโรสและครอบครัว ความสำเร็จที่คุณโรส พิสูจน์มาเเล้ว ช่วยเพิ่มความเข้าใจในวิถีเกษตรที่พึ่งพาตัวเองได้อยู่ได้จริงจึงเป็นอีกเเรงจูงใจที่กระตุ้นให้คนอื่นอยากทำตาม
จากที่เคยเป็นเพียงผู้เรียนรู้ นำไปสู่การเป็นผู้ถ่ายทอดในปัจจุบัน เธอเริ่มจากแบ่งบันเรื่องราวลงในพื้นที่เฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำสำเร็จหรือล้มเหลวเป็นการส่งต่อเรื่องราวให้ทั้งคนใน ชุมชนและนอกชุมชนได้ติดตามและลองทำตามเคล็ดลับหรือเทคนิคที่เธอคอยแบ่งปันช่วยสร้างอาชีพให้ใครหลายคนและสร้างแรงบันดาลใจไม่รู้จบ
“การทำน้ำมันมะพร้าวที่มันง่ายที่สุดก็มีคนเอาไปทำต่อเป็นอาชีพได้การเผาถ่าน การเก็บน้ำส้มควันไม้ วิธีการทำอ่างสำหรับเลี้ยงปลาซิวกับหอยขมให้อยู่รวมกัน สิ่งที่เราแบ่งปันทำให้คนสร้างอาชีพได้จริงหรือกระทั่งการปลูกต้นพริกไทยรอบต้นมะพร้าวก็ช่วยให้เขาลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เพราะไม่ต้องไปซื้อเสาอีกต่อไป”
บ้านคุณโรสจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับทุกคน จากครอบครัวเล็กๆที่ขอแวะเวียนมาเยี่ยมชมแปลงขยับขยายเป็นคณะบุคคลจากองค์กรต่างๆจากหลายจังหวัด คุณโรสคอยเป็นกระบอกเสียงหลักในเวทีชาวบ้าน ชักชวนเกษตรกรในชุมชนที่มีผลผลิตแต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำการตลาด ผนึกกำลังกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเริ่มจากการทบทวนทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ต่อด้วยการสรรหาวิธีแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าหลังจากนั้นก็ตกลงร่วมกันว่าจะต้องปลูกพืชผลอย่างไรจึงจะเป็นเกษตรอินทรีย์ที่เป็น มาตรฐานเดียวกันและมีการประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์และวางทิศทางการตลาดอย่างมีแบบแผน มีการแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกันอย่างไม่ปิดกั้น
นอกจากจะมีช่องทางจำหน่ายออนไลน์แล้ว วิสาหกิจชุมชนซึ่งนำโดยคุณโรสยังได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจในท้องที่ เช่น สถานีบริการน้ำมัน โรงแยกก๊าซ โรงผลิตไฟฟ้าให้ฝากจำหน่ายสินค้าชุมชนได้ ด้วยการควบคุมมาตรฐานเป็นอย่างดีและเอาใจใส่ผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า บางคนถึงขั้นขับรถมาจากไกลจากตัวเมืองเพื่อมาซื้อโดยเฉพาะ เพราะคำบอกเล่าปากต่อปาก

ปัจจุบัน คุณโรสเป็นถึงเกษตรกรนักถ่ายทอดผู้ขับเคลื่อนระดับจังหวัด เป็นกรรมการสมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืนนครศรีธรรมราช คอยแชร์ประสบการณ์ให้กับสมาชิกจำนวน 3-4 พันคนในทุกๆการพบปะประจำเดือนนอกจากนั้น เธอยังหมั่นเยี่ยมเยียนเครือข่ายเพื่อรับฟังปัญหาของชุมชนเเละร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ส่งเสริม เเละปรับปรุงพัฒนาต่อไป
คุณโรสคือตัวอย่างนักถ่ายทอดที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า จากต้นกล้าเล็กๆที่เธอปลูกลงแปลงหวังเพียงผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน มันเติบโตและแตกหน่อ ออกกิ่งก้านสาขา ‘สวนเฉลิมพระเกียรติเกษตรธรรมชาติ’ แห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งความรู้ที่ถ่ายทอดไปยังผู้คนอีกมากมาย ช่วยเพิ่มความเข้าใจในวิถีเกษตรที่พึ่งพาตัวเองได้ อยู่ได้จริง ที่สำคัญการถ่ายทอดไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ให้และรับความรู้ แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนเป็นวิทยากรต่อไปได้เกิดเครือข่ายที่เหนียวแน่นเข้มแข็ง ช่วยเหลือ แลกเปลี่ยน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยขยายเศรษฐกิจฐานรากด้วยการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
“เราภูมิใจที่อย่างน้อยสิ่งที่เราทำมันกระตุ้นให้คน รู้จักการทำเกษตร และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีแม้เพียงนิดเดียวก็ยังดี อย่างน้อยตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำไปมันไม่สูญเปล่า แม้ไม่ได้ย้อนกลับมาเป็นเงินเป็นทองมากมาย แต่มันกลับมาเป็นกำลังใจให้เราอยากทำสิ่งที่ดีกว่าเดิมต่อไป”
บทความจาก: บทเรียนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาธุรกิจเกษตรของเกษตรกรรุ่นใหม่ - ทำเนียบคนกล้าคืนถิ่น โดยมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช